วันอังคารที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ต้นตระกูล บุญฤทธิการ

เริ่มต้นตระกูลนี้ นาย บุ้นฮั้ว กับ พี่น้อง ข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากเมืองจีน สมัยนั้นมากันกี่คนไม่ทราบได้ แต่จะขอเริ่มจาก ก๋ง และ ย่า ของเราก่อน สมัยก่อนไม่ได้ใช้นามสกุล บุญฤทธิการ แต่เป็น แซ่ตั้ง ตอนเด็กๆเคยใช้อยู่
ตอนหลังมาเปลี่ยนเป็น บุญฤทธิการ
เริ่มกันเลย 
boonrittikarn1 

เปาโล บุ้นฮั้ว แซ่ตั้ง กับ  เอลีซาเบธ สะแว แซ่ตั้ง
IMG_2446
เมื่อก่อน ย่า สะแว มิได้มีนามสกุลแซ่ตั้ง แต่เป็น แซ่อึ้ง
แหะๆ วันก่อนถามเตื่ยว่า “ย่าเป็นคนแกวหรือปล่าว” คำตอบที่ได้ “ ไอ้บ้า ! เป็นคนไทยนี่แหละโว้ย ”
“ อ้าว! แล้วทำไมถึงชื่อสะแว ”  คำตอบที่ได้ “ กรูจะไปรู้เรอะ เมื่อก่อนเขาตั้งกันอย่างนี้ ”
เพราะฉะนั้นอย่าสงสัยอะไรอีก

ทั้งคู่เป็น ศาสนาคริสต์ นิกาย โรมันคาธอริก จึงทำให้ตระกูลนี้ เป็นศาสนาคริสต์กันทุกคนต่อมา
ยังมีข้อสงสัยว่า แล้วก๋ง เริ่มเข้าศาสนาคริสต์เมื่อไหร่ คำตอบก็คือ “ แกเป็นคริสต์ตั้งแต่ยังอยู่เมืองจีนโน้น ”
ทั้งคู่มีบุตรรวมทั้งสิ้น 9 คน  ในที่นี้ขอนับทั้งเก้าคนนี้ว่า บุญฤทฺธิการรุ่นที่ 1 ดังจะกล่าวในบทต่อไป

แรกเริ่มเดิมเลยนะตระกูลนี้มีคนเข้ามาอยู่เมืองไทยก่อนก๋ง คนนั้นคือ เตี่ยของก๋ง เตี่ยเราเรียกท่านว่า ก๋งแก่
แล้วเราเป็นบุญฤทธิการ รุ่นที่ 2 จะเรียกท่านว่าอะไรดี เพราะเราถามเตี่ยแล้วแกก็ยังไม่รู้ เอางี้ตามนั้นเลย “ เตี่ยของก๋ง ” หรือ “ ก๋งแก่ ” คือ คนๆเดียวกัน แล้ววันหลังจะหารูปมาแทรกให้ดู
ก๋งแก่ มาอยู่เมืองไทยนานแล้ว มีอาชีพเป็นหมอชาวบ้าน รักษาชาวบ้านด้วยยาสมุนไพรจีน เมียและลูกอยู่เมืองจีน มีลูก 5 คน ตอนนั้นเมืองจีนลำบากยากแค้นไม่พอกิน คงเคยดูหนังจีนกันอยู่บ้างนะสมัยก่อนเป็นยังไง อยู่มาวันนึงไม่รู้ใครนัดใคร ก๋งแก่นัดลูก หรือลูกทั้งห้านัดก๋งแก่  ลูกทั้งห้าคนหนีจากเมืองจีน ข้ามน้ำ ข้ามทะเล หวังมาหา ก๋งแก่ ที่เมืองไทย โดยการลักลอบขึ้นเรือถ่าน (คงเป็นเรือกลไฟ ที่ใช้ถ่านเป็นเชื้อเพลิงขับเคลื่อน) ก๋งบอกเตี่ยเราว่า เรือถ่าน ต้องซุกตัวอยู่ในกองถ่าน ไม่ให้พวกทหารเห็นหรือจับได้ สมัยนั้นใครที่หนีจากเมืองจีนแล้วถูกทหารจับได้ตายลูกเดียว สรุปแล้วขึ้นเมืองไทยมาได้ 4 คน ส่วนอีกคน ดันขึ้นเรือผิด หรือ ตั้งใจยังไงไม่ทราบ ไปขึ้นที่เวียดนาม ปัจจุบันครอบครัวแต่ละคนออกลูกออกหลานกันมาเยอะแล้ว เตี่ยบอกว่า คนที่ไปโผล่เวียดนามยังเคยมาเยี่ยมญาติพี่น้องที่อยู่เมืองไทยเลย ลูกทั้งห้าคนของก๋งแก่ เตี่ยเราเรียกดังนี้
1 ตั่วแปะ เป็นคนโต ปัจจุบันขายยาจีนอยู่กรุงเทพ แถวหน้าโรงพยาบาลกลาง (ไม่รู้ตรงไหน งง) พานนกหรือปล่าวหว่า
2 ยี่แปะ คนนี้แหละที่ไปโผล่เวียดนาม
3 ซี้แปะบุนเกียง ปัจจุบันครอบครัวนี้อยู่อุดรธานี เปิดร้านขายยาแผนปัจจุบัน ซี้แปะมีเมียหลายคน มีลูกมากจนมีส่วนนึงมาอยู่โคราช ขายยาอยู่ที่อัมพวัน มีที่พอจำได้คือ โกวจู ปัจจุบันยังอยู่โคราช ไปๆมาๆ โคราช - อเมริกา คือแกมีลูกสาวอยู่ที่นั้น อีกคนก็ เจกต้น บ้านอยู่แถวประปา ติดต่อกันประจำ
4 ไม่รู้ชื่อไร แต่ว่า ตายอยู่ที่ดงหัวโขด(ดงแหลมโขด) ฝังศพไว้ในสวน แต่ก๋งจำไม่ได้ว่าสวนไหน ตรงไหน ปัจจุบันไม่มีใครรู้เลย
5 ก๋ง เราเอง บุนฮั้ว เตี่ยบอกว่าเพราะแกไม่ได้เรียนหนังสือ อ่านหนังสือไม่ออก และชอบกินเหล้า แกเลยได้ทำสวน ทำไร่ ส่วนตั่วแปะอ่านหนังสือออกแกหัวดีเลยได้ตำรายาจีนและวิชาจากก๋งแก่ไป
พูดถึงเรื่องกินเหล้าเก่งหรือชอบกินเหล้าของก๋งนี้แหละ เเกเลยได้รู้จักชายคนนึง เป็นคอเหล้าเหมือนกันคงได้กินกันบ่อย เตี่ยเราเรียกว่า “ ก๋งซี้ แซ่อึ้ง” และก๋งซี้ คนนี้แหละที่ต่อมาไม่นานได้เป็น พ่อตา ของ ก๋งเรา  เตี่ยบอกว่า พ่อตากับลูกเขย เมากันประจำ อย่างว่าแหละตอนเราเด็กๆเตี่ยพาไปบ้านก๋ง ก็เห็นก๋งกินเป็นประจำอยู่แล้ว ก่อนกินข้าวก็ต้องมีเรียกน้ำย่อยกันก่อนทุกมื้อ รุ่นที่2 คงจำกันได้

ทีนี้มาพูดกันถึงเรื่องย่ากันบ้าง ย่าสะแว เป็นลูกของก๋งซี้ กับ ยายเฉื่อย (แม่บน) ทำไมต้องวงเล็บว่า แม่บน
“ แม่บน ” เป็นชื่อที่ทางรุ่นที่ 1 ใช้เรียกแทนคำว่ายายเฉื่อย จนทำให้รุ่นที่ 2 อย่างเราเรียกกันติดปากว่า แม่บน
คำว่า แม่บน มาจาก บ้านแกอยู่บริเวณส่วนบนของดงแหลมโขด เป็นที่สูง ส่วนบ้านย่ากับก๋ง แต่ก่อนเรียกว่า ถนนต่ำ แม่บนแกเป็นคนใจดีรุ่นที่ 2 เคยสัมผัสกันทุกคน เป็นคนแข็งแรง ตอนนั้นแกอายุ ประมาณ 80 กว่า หรือ 90 กว่านี้แหละ แกไปดูหมอ หมอดูทักว่าแกจะมีอายุ 108 ปี แกเลยโมโหหมอดูใหญ่ หาว่า ทำไมให้แกอยู่นานนักตั้ง 108 ปี จะว่าไปแล้ว ย่าสะแว มีลูก 9 คน ก็ว่าเยอะแล้ว ยังสู้แม่บนไม่ได้ แม่บนมีลูก 12 คน
เตี่ยเราไล่ให้ฟังดังนี้
1 แม่สะแว ลูกคนโต
2 กู๋หว่า
3 กู่หวัด
4 กู๋ลอง
5 กู๋ยวง
6 กู๋หลัด
7 อี้หวิ๋ง
8 อี้นา
9 อี้นี
10 อี้นงค์
“ อ้าว!เตี่ย นี้มันแค่ 10 คนนี่หน่า ”
“ เออ อีก 2 คนจำไม่ได้ว่ะ เยอะเหลือเกิน ” เตี่ยตอบ

บทนี้พอแค่นี้ก่อน หากมีการเล่าเรื่องที่ผิดพลาดก็ส่ง email มาช่วยกันได้นะจะได้แก้ไขกัน บทความหน้าจะเป็นเรื่องของ บุญฤทธิการ รุ่นที่1